วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

น่ารู้! โรคอัลไซเมอร์ สาเหตุ วิธีป้องกัน



โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) คือโรคที่เกิดจากการตายของเซลล์สมอง โดยไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นทดแทน ทำให้การทำงานของสมองเสื่อมลง จนกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่จากการตรวจพบทางพยาธิวิทยา พบว่ามีสมองฝ่อ และตรวจพบ neurofibrillary tangles เป็นโครงสร้างที่พันกันยุ่งเหยิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นประสาท มีการสะสมโปรตีน amyloid ในสมองซึ่งเป็นสารเหนียวๆ จับกันเป็นก้อนที่เรียกว่า พลัค (plaque) ซึ่งทั้ง 2 ตัวต่างทำลายเซลล์สมองที่ดีที่อยู่รอบๆ ให้เสียหาย และลักษณะอีกอย่างหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์ คือ เซลล์สมองสร้างสารส่งผ่านประสาทที่เกี่ยวข้องกับความจำลดลง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร ์มีความผิดปกติทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นด้วย
ปัจจัยเสี่ยง และ สาเหตุโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่
  • อายุ อายุยิ่งมากขึ้นเท่าใดก็มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์มากเท่านั้น พบว่าร้องละ 10 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ และร้อยละ 50 ของผู้ป่วยอายุเกิน 85 ปีเป็นโรคนี้
  • เพศ พบว่าโรคอัลไซเมอร์พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • ประวัติครอบครัว พบว่ามีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์
  • กลุ่มอาการดาวน์  (Down  syndrome) ผู้ป่วยโรคนี้จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่ออายุ 30-40 ปี และสัมพันธ์กับอุบัติเหตุทางสมอง
  • สารพิษจากสิ่งแวดล้อม มีนักวิจัยบางคนสรุปว่าการการได้รับสารอะลูมิเนียมมากเกิดไปจะทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์
  • ผู้มีระดับการศึกษาต่ำ แม้ว่าจะยังไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัด แต่จากการสังเกตพบว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มักจะมีระดับการศึกษาต่
อาการโรคอัลไซเมอร์
อาการต่างๆ ที่อาจจะพบ ได้แก่ อาการหลงลืมซึ่งเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ ชอบถามคำถามซ้ำๆ นึกคำหรือประโยคที่จะพูดไม่ออก หลงลืมสิ่งของที่ใช้เป็นประจำ สับสนเรื่องเวลา สถานที่ จำบุคคลที่เคยรู้จักไม่ได้ มีอารมณ์หงุดหงิด หวาดระแวง ซึมเศร้า อาการเหล่านี้เป็นมากขึ้นจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะแรกใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี ญาติมักจะไม่สังเกตเห็นความผิดปกติมากนัก อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นตามลำดับ
ในผู้ป่วยระยะกลางใช้เวลาประมาณ 2-10 ปี ผู้ป่วยบางรายยังพอรู้ตัวว่าหลงลืมง่ายโดยเฉพาะเรื่องวัน เวลา สถานที่ ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการด้านอารมณ์ เช่น ก้าวร้าว หวาด ระแวง ซึมเศร้า ทำให้ความสนใจต่อตนเองลดลง ญาติมักจะสังเกตเห็นความผิดปกติจึงควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ หากปล่อยไว้จนผู้ป่วยเข้าสู่ระยะที่ 3 ความจำจะเลวลงมาก พูดน้อยลง ปัสสาวะหรืออุจจาระโดยไม่บอก มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ สับสน เอะอะอาละวาด หรือมีอาการทางจิตประสาท เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว หวาดระแวงกลัวคนมาทำร้าย
ปัจจุบันแม้จะยังไม่มียารักษาโรคนี้ให้หายได้ แต่จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่า มีตัวยาที่สามารถช่วยให้ความจำ พฤติกรรมและการทำกิจวัตรประจำวันดีขึ้น ทั้งในโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่ระยะปานกลางจนถึงรุนแรงได้ และความจำเสื่อมที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองมีผลข้างเคียงที่พบ ได้แก่ คลื่นไส้ ปวดท้อง นอนไม่หลับ วิงเวียน ปวดศีรษะ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มรับประทานยาครั้งแรก ดังนั้นหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และทำการรักษาอาการจะทุเลาลง
วิธีป้องกันโรคอัลไซเมอร์
วิธีการป้องกันแนะนำให้รับประทานอาหารประเภท ผัก ผลไม้ และเนื้อปลาให้มากๆ เพราะจากการศึกษาของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบียสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารเหล่านี้มาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ลดลงร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังช่วยลดน้ำหนัก ลดความดันโลหิต และลดไขมันได้อีกด้วย
หากใครสงสัยว่าตัวเองหรือพ่อแม่ญาติพี่น้อง ผู้สูงอายุ จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ สามารถปรึกษาแพทย์ตามสถาบันที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องความจำ อาทิ โรงพยาบาลพระมงกุฎ ศิริราช พยาบาล หรือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถามทดสอบความจำ เพื่อเปรียบเทียบคะแนนหรือทดสอบความจำกับเครื่องอัตโนมัติ เพราะปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทันสมัยไว้ทดสอบแล้วจะได้จะได้ผลคัดกรองคร่าวๆ ก่อนการรักษา
ถึงแม้ว่าโรคอัลไซเมอร์มีอาการไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตและใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน แต่หากตรวจพบช้าอาจแก้ไขสิ่งใดไม่ได้แล้ว ดังนั้นเราควรหันมาดูแลเอาใจใส่ พ่อ แม่ พี่น้อง ญาติหรือผู้สูงอายุรวมทั้งหมั่นสังเกตอาการเพื่อพามารักษาความทรงจำให้ดีขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    • วิธีการดูแลสุขภาพจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น