วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โรคเมอร์ส (MERS) Middle East Respiratory syndrome

โรคเมอร์ส (Mers) คืออะไร
โรคเมอร์ส (Mers : Middle East Respiratory Syndrome)   คือโรคระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรนา (Corona Virus) หรือที่เรียกว่า เชื้อไวรัสเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV)  หรือ EMC/2012 (HCoV-EMC/2012) เนื่องจากพบการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2012 เดิมทีเดียวไวรัสสายพันธุ์โคโรนานี้มักพบในสัตว์จำพวกค้างคาวบางชนิดและอูฐที่เลี้ยงกันมากทางตะวันออกลางที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ต่อมาพบว่าเจ้าไวรัสมรณะนี้ได้พัฒนาสายพันธุ์ตัวเองให้สามารถกระจายมาสู่คน และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ในที่สุด
ไวรัสเมอร์ส
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ตะวันออกกลาง ต้นเหตุของการเกิดโรคเมอร์ส
การระบาดของเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คนนั้น ตรวจพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ.2555) ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นชายวัย 60 ซึ่งต่อมาเสียชีวิตด้วยอาการปอดอักเสบและไตวาย จากนั้นเชื้อไวรัสเมอร์สได้ระบาดลุกลามอย่างรวดเร็วในประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆในตะวันออกกลาง และการะจายสู่ประเทศต่างๆทั่วโลกในปัจจุบัน เชื้อไวรัสโคโรน่าต้นเหตุของโรคเมอร์สนี้ มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS : Severe Acute Respiratory Syndrome) แต่มีอาการที่รุนแรงกว่า
หมายเหตุ บางครั้งจะเรียกไวรัสตัวนี้ว่า “เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ตะวันออกกลาง” และโรคเมอร์ส บางครั้งเรียกว่า “โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง”
ข้อมูลทางพันธุศาสตร์ของไวรัสเมอร์ส
Group : Group IV ((+)ssRNA)
Order : Nidovirales
Family : Coronaviridae
Subfamily : Coronavirinae
Genus : Betacoronavirus
Species : MERS-CoV
ไวรัสเมอร์ส
ภาพไวรัสเมอร์สแบบ 3 มิติ
อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส/ผู้ป่วยโรคเมอร์ส
อาการเบื้องต้นของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเมอร์สนั้นจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด กล่าวคือจะมีอาการไอ จาม มีไข้สูง และหอบเหนื่อย อาจะมีอาการท้องเสียและอาเจียนร่วมด้วย จากนั้นจะมีอาการรุนแรงขึ้นเช่น ปอดอักเสบ ไตวาย และระบบการหายใจล้มเหลว จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นผู้ที่มีภาวะเสี่ยง เช่น เพิ่งเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาด สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ถ้ามีอาการคล้ายเป็นหวัด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคทันที
ไวรัสโรคเมอร์ส
ผู้ป่วยโรคเมอร์ส มักมีอาการระยะแรกคล้ายการเป็นหวัด
ระยะฟักตัวของไวรัส
เชื้อไวรัสเมอร์สจะมีระยะฟักตัวราว 14 วัน ก่อนที่จะแสดงอาการป่วย ในบางรายพบว่าไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น จึงกลายเป็นพาหะนำโรคและแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว
การติดต่อหรือแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเมอร์ส
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าเชื้อไวรัสนี้กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างไร แต่พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมดังนี้
- ผู้ที่เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด
- ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสเมอร์สในตัวหรือผู้เป็นพาหะ
- ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อไวรัสในตัว
- บุคคลากรทางการแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยเมอร์ส
ไวรัสโรคเมอร์ส
อูฐ หนึ่งในสัตว์ที่เป็นพาหะของไวรัสโคโรน่าต้นเหตุของโรคเมอร์ส
วิธีรักษาผู้ติดเชื้อโรคเมอร์ส
ปัจจุบันยังไม่มียา วัคซีน หรือเครื่องมือใดๆที่จะสามารถรักษาอาการโรคจากไวรัสเมอร์สได้โดยตรง จึงทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก (ราว 30% ของผู้ป่วย) การรักษานั้นแพทย์จะทำการรักษาตามอาการและประคองอาการเท่านั้น ดังนั้นใครที่มีภาวะเสี่ยง ควรหมั่นสังเกตุตัวเอง ถ้ามีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกันตัวจากเชื้อไวรัสเมอร์ส
เนื่องจากยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง ดังนั้นควรป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสตัวนี้ให้มากที่สุด ดังนี้
- หลีกเลี่ยงเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการระบาด
- ผู้ที่ทำการใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควรสวมหน้ากากอนามัย
- ไม่เข้าไปอยู่ใกล้หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหวัดหรือมีอาการคล้ายหวัด
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดพลุกพล่าน
- หมั่นสังเกตุคนใกล้ชิดและคนในครอบครัว ถ้ามีอาการน่าสงสัย ให้พาไปพบแพทย์ทันที
- หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
- รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ
- ล้างมือบ่อยๆ
ไวรัสโรคเมอร์ส
ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด
ประเทศที่พบการระบาดของโรคเมอร์ส ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อแล้วใน 20 ประเทศ ดังนี้ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน คูเวต อียิปต์ ตุรกี อัลจีเรีย อินโดนีเซีย ออสเตรีย จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทย (วันที่ 18 มิถุนายน 2558 มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ เป็นชายชาวโอมาน อายุ 75 ปี ที่เพิ่งเดินทางเข้ามายังประเทศไทย)
ไวรัสโรคเมอร์ส
ประเทศที่มีการแพร่กระจายของโรคเมอร์ส
สถานการณ์โรคเมอร์สในประเทศไทย
29 มิ.ย. 2558
กระทรวงสาธารณสุขรายงานความคืบหน้าของผู้ป่วยเมอร์สชาวโอมานว่ามีอาการดีขึ้นมาก สามารถหายใจได้เอง รับประทานอาหารได้เอง และคาดว่าจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายในเดือนหน้า
28 มิ.ย. 2558
อาการผู้ป่วยชาวโอมานที่รักษาอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร พบว่ามีอาการดีขึ้นตามลำดับ รับประทานอาหารได้เอง ปวดอักเสบลดลง ระดับเชื้อไวรัสลดลง คาดว่าจะหายเป็นปกติได้เร็วๆนี้
28 มิ.ย. 2558
ผลการตรวจเด็ก ป.5 ในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ต้องสงสัยจะติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ปรากฎว่าเป็นเพียงเชื้อไข้หวัดธรรมดา ทำให้สามารถกลับมาเปิดเรียนตามปกติในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายนนี้
27 มิ.ย. 2558
โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ถูกสั่งปิดอย่างไม่มีกำหนด เมื่อพบว่ามีเด็กคนหนึ่งมีอาการป่วยหลังจากเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ในขณะที่สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ได้นำเด็กคนดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและคัดกรองโรคเมอร์สแล้ว
26 มิ.ย. 2558
ผลการรักษาผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกของไทย ที่พักรักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร พบว่ามีอาการดีขึ้นมาก หายใจได้เองมากขึ้น รับประทานอาหารได้เอง ผลการเอกซเรย์ปอดปกติดี คาดว่าจะหายเป็นปกติเร็วๆนี้ ส่วนญาติใกล้ชิดอีก 3 คนที่เดินทางมาด้วยกัน พบว่ามีอาการปกติทุกราย
24 มิ.ย. 2558
ผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกและรายเดียวของไทยในขณะนี้ ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร มีอาการดีขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติม
23 มิ.ย. 2558
สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์รายงานว่าพบผู้ต้องสงสัยจะติดไวรัสโรคเมอร์สอีกหนึ่งคน โดยชายคนดังกล่าวอายุ 33 ปี และเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ได้เชิญชายคนดังกล่าวมาเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและกักกันโรค
23 มิ.ย. 2558
ผลการตรวจผู้ป่วยชาวเชียงใหม่ที่เพิ่งกลับจากประเทศเกาหลีใต้แล้วมีอาการป่วย ปรากฏว่าป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่ได้ป่วยด้วยเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ตะวันออกกลางหรือไวรัสเมอร์ส (MERS-CoV) แต่อย่างใด
22 มิ.ย. 2558
สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่รายงานพบผู้ต้องสงสัยรายใหม่ ที่เพิ่งเดินทางกลับจากเกาหลีใต้แล้วมีอาการไข้และไอ ขณะนี้ได้นำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและกักกันโรค ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ต้องสงสัยรายที่ 7 ของเชียงใหม่ โดยที่ 6 รายแรกไม่มีใครติดเชื้อไวรัสเมอร์ส เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่
22 มิ.ย. 2558
สาธารณสุขจังหวัดราชบุรีรายงานผลการตรวจผู้ป่วยต้องสงสัย ภายหลังเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้แล้วมีอาการไข้ ปรากฏว่าผลออกมาเป็นลบ ซึ่งหมายถึงไม่มีเชื้อไวรัสเมอร์สแต่อย่างใด ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยยังคงที่ที่ 1 คน และมีผู้ที่ถูกกักตัวเพื่อเฝ้าระวังจำนวน 176 คน
21 มิ.ย. 2558
ผลการตรวจซ้ำผู้ต้องสงสัย 3 คนที่โดยสารเครื่องบินมาพร้อมกับชายชาวโอมานที่ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ปรากกว่าไม่พบเชื้อดังกล่าว ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สในประเทศไทยยังคงที่อยู่ที่ 1 คน
20 มิ.ย. 2558
พบตัวหญิงชาวบุรีรัมย์ที่นั่งติดกันบนเครื่องบินกับชายโอมานที่ติดเชื้อไวรัสเมอร์สแล้ว ผลตรวจเบื้องต้นไม่พบอาการไข้ จึงกักตัวไว้สังเกตุอาการ 14 วัน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดจำนวน 3 คน และผู้มีเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคจำนวน 175 คน
20 มิ.ย. 2558
ผู้ป่วยโรคเมอร์สชาวโอมานซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูรมีอาการดีขึ้น อาการปอดอักเสบลดลง รับประทานอาหารอ่อนๆได้เอง ให้อ๊อกซิเจนในปริมาณที่น้อยลงได้แล้ว
20 มิ.ย. 2558
สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์เร่งหาตัวหญิงชาวบุรีรัมย์ซึ่งเดินทางกลับมาประเทศไทยโดยทางเครื่องบินพร้อมกับชายชาวโอมานและครอบครัวที่ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส เบื้องต้นทราบว่าหญิงคนดังกล่าวอาศัยอยู่ใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
20 มิ.ย. 2558
องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวชื่นชมไทยในการรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรนาหรือเชื้อไวรัสเมอร์ส ภายหลังจากการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรก
20 มิ.ย. 2558
กระทรวงสาธารณสุขยืนยันผลการตรวจญาติจำนวน 3 คนของผู้ป่วยเมอร์สรายแรกในไทย ปรากฏว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดธรรมดา ส่วนผู้ต้องสงสัยที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ยืนยันแล้วว่าไม่ใช่ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ทำให้จำนวนผู้ป่วยเมอร์สในประเทศไทยยังคงที่อยู่ที่ 1 คนเท่าเดิม
19 มิ.ย. 2558 พบผู้ต้องสงสัยจะติดเชื้อโรคเมอร์สที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีไข้สูงและมีอาการไอภายหลังเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้
19 มิ.ย. 2558 ชายชาวโอมาน ผู้ป่วยเมอร์สรายแรกในประเทศไทยมีอาการดีขึ้น แต่ยังหายใจเองไม่ได้ มีรายงานว่าญาติของผู้ป่วยที่เดินทางมาด้วยกันจำนวน 3 ราย เริ่มมีอาการป่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
18 มิ.ย. 2558 พบผู้ป่วยโรคไวรัสเมอร์รายแรกในประเทศไทย โดยเป็นชายชาวโอมานซึ่งเดินทางเข้ามายังประเทศไทยพร้อมกับครอบครัว โดยผู้ป่วยรายแรกนี้ได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ทั้งนี้มีผู้ที่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวังอีกจำนวน 66 ราย
18 มิ.ย. 2558 กระทรวงสาธารณสุขของไทยออกประกาศกฏกระทรวงเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้โรคเมอร์สหรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เป็นโรคติดต่อต้องแจ้งความและเป็นโรคติดต่ออันตราย ส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมการป้องกันขั้นสูงสุด
โรคไวรัสเมอร์สนับได้ว่าเป็นโรคติดต่อที่มีความร้ายแรงมาก นับจากการระบาดของโรคซาร์ส (SARS : Severe acute respiratory syndrome) เมื่อหลายปีก่อน เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาโดยตรง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังตนเองไม่ให้รับเชื้อ ถ้าสงสัยในความเสี่ยงของตนควรรีบไปพบแพทย์ มีรายงานทางการแพทย์หลายชิ้นระบุว่าโรคเมอร์สนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่ายนัก แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ควรทำตัวเองให้มีความเสี่ยงต่อการรับโรค อย่างน้อยควรยึดหลัก … ตระหนักแต่ไม่ตระหนก และ ปลอดภัยไว้ก่อนนะครับ ^ ^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น